กาลพฤกษ์
กาลพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana craib อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE AESALPINIOIDEAE เช่นเดียวกับขี้เหล็ก จึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่นลักษณะใบ
กาลพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๕-๑๒ เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ ใบเป็นใบผสมมีใบย่อย ๕-๑๕ คู่ ใบย่อยมีรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีขนอ่อนปกคลุมใบทั้งหน้า-หลัง เป็นไม้ผลัดใบ ใบร่วงหล่นช่วงฤดูหนาว ราวพฤศจิกายน-มีนาคม
ออกดอกหลังผลัดใบพร้อมแตกใบใหม่ ราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งเป็นช่อใหญ่ เต็มต้นดูงดงามมาก ดอกไม่มีกลิ่นหอม ดอกย่อยมีกลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพู เมื่อเริ่มบาน แล้วเริ่มจางจนเป็นสีเกือบขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย เกสรตัวผู้สีเหลือง อยู่กลางดอก ดอกบานกว้าง ๒-๕ เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม มีขนอ่อนปกคลุม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕-๒ เซนติเมตร ความยาว ๒๕-๔๐ เซนติเมตร เนื้อในฝักสีขาวปนเขียว ลำต้น เปลือกเรียบ สีเทาแก่ เนื้อไม้สีเหลือง-น้ำตาล
กาลพฤกษ์มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบบริเวณ ป่าแดง ป่าโคก และป่าเบญจพรรณในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนไทยเกี่ยวกับชื่อต้นไม้คือ ชื่อต้นไม้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ สำหรับกาลพฤกษ์ มีชื่อที่คนไทยภาคเหนือเรียกคือ กัลปพฤกษ์ ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะศาสนาพุทธ
ประโยชน์ของกาลพฤกษ์
ในทางสมุนไพร แพทย์แผนไทยกำหนดสรรพคุณของกาลพฤกษ์ไว้ดังนี้คือ
เนื้อในฝัก : ระบายอ่อนๆ แก้คูถ เสมหะ เป็นต้น
เปลือกเมล็ด : ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษไข้ได้ดี เป็นต้น
สำหรับเนื้อในฝักกาลพฤกษ์นั้นมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเพราะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาที่ระบายแรงกว่า
สมัยก่อนคนไทยถือว่า กิ่งก้านจากต้นกาลพฤกษ์เป็นไม้มงคล เหมาะสำหรับนำไปทำด้ามธง ถือว่าทำให้เกิดสิริมงคลดีนัก
ต้นกาลพฤกษ์ทนดินเลวอากาศแห้งแล้งได้ดี มีดอกดกเต็มต้น สีชมพูอ่อนสดใสงดงามมาก เปรียบได้กับดอกเชอรี่ ดังที่บรรยายไว้ในเพลงโปรดเพลงหนึ่งของผู้เขียนและคนไทยหลายคนคือเพลง "Herry Pink and Apple Blossom White" ดอกกาลพฤกษ์มีทั้งสีชมพูและขาวจึงรวบรวมความงดงามของทั้งดอกเชอรี่และดอกแอปเปิ้ลในเพลงนี้เอาไว้ในต้นเดียวกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น